โครงการหลวง ป่าสนวัดจันทร์

โครงการหลวง ป่าสนวัดจันทร์
โครงการหลวงป่าสนวัดจันทร์

21/2/54

นักวิ่งมาราธอนวัย 87 ปี

....เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว ที่ปู่เป็งแอบย่องออกจากบ้านตอนเช้ามืด เพื่อซุ่มซ้อมวิ่งให้ร่างกายพร้อม...ส่วนจิตใจนั้นไม่ต้องห่วง...เต็มร้อยอยู่แล้วฟิตดี ไม่มีพลาด "ปู่เป็ง" จะเริ่มซ้อมตั้งแต่เวลา 4.00น.โดยวิ่งรอบสนามฟุตบอลไปเรื่อยๆ พอฟ้าสว่างจึงวิ่งออกถนนใหญ่ นับหลักกิโลฯไปจนได้ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ก็วิ่งกลับจะถึงบ้านประมาณ 10.00 น.

"ปู่เป็ง" เล่าว่า เริ่มซ้อมวิ่งช่วงแรก ๆ ...วิ่งรอบสนามฟุตบอลจนงง..จำไม่ได้ว่าวิ่งไปกี่รอบ...ต้องหาเครื่องช่วยจำ...วันรุ่งขึ้น...จึงไปแลกเหรียญบาท ใส่กระเป๋าไว้ 100 เหรียญ

วิ่งครบ 1 รอบ...ก็ล้วงเหรียญจากกระเป๋าขวา มาใส่กระเป๋าซ้าย แล้วก็วิ่งไปจนหมดเหรียญ ประมาณ 40 กิโลเมตรผลปรากฎว่า กระเป๋ากางเกงขาด เหรียญบาทตกหาย

...และตอนวิ่งยังมีเสียงเหรียญกระทบกัน..กรุ๊ง...กริ๊ง.. น่ารำคาญ..จึงเปลี่ยนจากเหรียญบาทมาใช้เม็ดมะขามแทน

นอกจากการซ้อมอย่างสม่ำเสมอแล้ว..ปู่เป็งยังรักษาสุขภาพตนเองอย่างดีเยี่ยมด้วย

"ตั้งแต่หนุ่มๆ มาแล้ว ปู่ไม่เคยกินเหล้า หรือสูบบุหรี่เลย เพราะไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กินอาหารตรงเวลา จะมีลูกสาวคนเล็กคอยชงโอวัลตินหรือนมเสริมแคลเซี่ยมให้กินทุกวัน " ที่สำคัญ ปู่เป็งไม่เคยตั้งอยู่ในความประมาท เพราะจะเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกเดือน ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

แรงบันดาลใจ

"ปู่ไม่มีโอกาสไม่เหรียญหรอก เพราะปู่ไม่ได้เป็นนักกีฬาอายุก็มากแล้ว " คำพูดในเชิงดูถูกของหลานชายตัวเล็ก ทำให้จิตใจไม่เคยยอมแพ้ใครของปู่เป๋งฮึดสู้ขึ้นมาทันที

เนื่องจากหลานชายเป็นนักกีฬาประจำจังหวัดราชบุรี ได้นำเหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬามาอวด ปู่เป็งสนใจมาก " เพราะสมัยปู่เป็นเด็กไม่มีแบบนี้ " ปู่เป็ง เล่าถึงแรงบันดาลใจครั้งแรกก่อนกระโดดลงสนามวิ่ง

และที่มีส่วนกระตุ้นให้ปู่เป๋งเลือกการวิ่งเป็นรางวัลในปั้นปลายชีวิตนั่นก็คือ...ภาพนักวิ่งจำนวนมากที่วิ่งผ่านหน้าบ้านเป็นประจำ เพราะเป็นเส้นทางที่สถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงใช้เป็นทางผ่านในการจัดแข่งขันวิ่งมาราธอน จึงนึกสนุกด้วย

ปี 2537 ปู่เป็งจึงเดินเข้าไปเขียนใบสมัครลงแข่งขัน "จอมบึงมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร " ในรุ่นอายุ 60 ปี ขึ้นไป และวิ่งเข้าเส้นชัยด้วยไม่ได้รับเหรียญรางวัลอะไรเลย...

แต่ที่แน่ๆ วันรุ่งขึ้น...ปู่เป็งไม่สบาย ปวดเมื่อยร่างกายไปหมด เหมือนกระดูกจะหลุดเป็นเสี่ยง ๆ ลูกๆ ต้องป้อนข้าวต้มอยู่หลายวัน อาการป่วยทำให้ปู่เป็งรู้ว่า ร่างกายตนเองไม่พร้อม เพราะไม่เคยเล่นกีฬามาก่อน

ดังนั้นเมื่อหายป่วย..ปู่เป็ง จึงออกวิ่งซ้อมรอบสนามฟุตบอลสถาบันราชภัฎฯทุกเช้า

ไม่เคยยอมแพ้เข้าเส้นชัยทุกครั้ง

" ผมลงสนามพร้อม " ปู่เป็ง " จำได้ว่า ตอนนั้นลงครึ่งมาราธอน ระยะทาง 21.1 กิโลเมตร วิ่งไป 10 กิโลเมตร เห็นปู่เป็งวิ่งอยู่ข้างหน้า ผมก็เร่งฝีเท้าตีเสมอ ...และวิ่งคอยอยู่ระยะหนึ่ง จึงคิดจะแซง ย่ามใจว่า ปู่อายุมากแล้ว จึงหันมาบอกปู่เป็งว่า..ไปก่อนนะปู่...แล้วผมก็วิ่งแซงขึ้นไป พอวิ่งไปอีกไม่ถึง 5 กิโลเมตร ได้ยินเสียงคนวิ่งตามหลังมา หันไปดูปรากฏว่าเป็นปู่เป็ง...แล้วปู่ก็เร่งฝีเท้าแซงผมทันที และบอกว่า..ไปก่อนนะอาจารย์ ผมก็แซงปู่ไม่ได้อีกเลย..ปู่อึดมาก ยิ่งวิ่งระยะไกลไม่มีใครสู้ได้ " เป็นคำบอกเล่าของอาจารย์ ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ก่อตั้งชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพของสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง

ความมุ่งมั่นของปู่เป็ง ...เป็นสิ่งที่เยาวชนควรนำไปเป็นแบบอย่าง คือตั้งใจทำอะไรแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ ทุกครั้งที่ลงสนาม จะต้องเข้าเส้นชัยให้ได้ ไม่ว่าจะทำเวลาได้แค่ไหนก็ตาม ไม่เคยออกนอกเส้นทาง เพราะความเหนื่อยล้า ไม่เคยใช้ทางลัดเพื่อทำเวลา ไม่เคยออกนอกการแข่งขันกลางคัน

"เป็นการให้เกียรติสนาม " เป็นเหตุผลสั้น ๆ จากคุณปู่ยอดนักสู้

ปู่เป็งมีเทคนิคส่วนตัวในการวิ่งที่ไม่มีใครสอน นั่นก็คือ ท่าวิ่งที่ยกเท้าไม่สูง เลียดไปกับพื้น พัฒนามาจากการเดิน ประกอบกับรูปร่างเล็กๆ บางๆ น้ำหนักเพียง 48 กิโลกรัม กับส่วนสูง 155 เซ็นติเมตร ทำให้ร่างกายไม่ต้องรับน้ำหนักมาก จะช่วยลดอุบัติเหตุ

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา รศ.เจริญ กระบวนรัตน์ บอกว่าการวิ่งมาราธอนของ "ปู่เป็ง " จะไม่เป็นอันตราย หากร่างกายคุ้นเคยกับการออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ และสถิติ 4 ชั่วโมงเศษๆ จากการวิ่ง 42.195 กิโลเมตร ก็ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับคนอายุมาก

คนอายุ 70 ปีขึ้นไป หากได้ออกกำลังกายเป็นประจำแล้วจะทำให้ ปอด หัวใจ หลอดเลือด กระดูก กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหว และแข็งแรงหนุ่มๆ บางคนสู้ไม่ได้ แต่หากหยุดไปนาน ๆ แล้ว กลับมาวิ่งอีก ถือว่าเสี่ยง รศ.เจริญให้ความรู้

รศ.เจริญ บอกด้วยว่า ปู่เป็งเป็นตัวอย่างที่ดของการออกกำลังกาย วัยเกือบ 90 ปีแล้ว ยังสามารถฟิตซ้อมร่างกายจนแข็งแรงลงสนามได้ ถือว่าเป็นคนพิเศษกว่าใคร ๆ แต่ไม่อยากให้ปู่เป็งมุ่งมั่นแข่งขันเพื่อเอาชนะจนเกินสภาพร่างกายซึ่งอาจพลาดพลั้งได้ ดังนั้นต้องคำนึงว่าร่างกายวัยนี้จะไม่แข็งแรงเหมือนหนุ่มสาว "การวิ่งออกกำลังกาย มีประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ ทำให้อายุยืนร่างกายแข็งแรง รักษาโรคบางชนิดได้โดยเริ่มวิ่งจากทีละน้อยๆ อย่าหักโหม วิ่งอย่างช้าๆ ไปเรื่อยๆ มีจิตใจที่เพลิดเพลินอารมณ์ดี ที่สำคัญที่สุด คือต้องคอยสังเกตุปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเสมอทั้งก่อนวิ่งขณะวิ่งและหลังการวิ่ง ผู้เชี่ยวชาญบอกทิ้งท้าย

อย่างปู่เป็ง หนุ่มๆ หลายคนยกมือยอมแพ้ แม้ว่าเรื่องกุ๊กกิ๊กกับคู่ทุกข์คู่ยากจะห่างหายไป...แต่วันนี้คุณปู่ ยังเคียงคู่ภรรยา นั่งดูกีฬาโปรดทางทีวี และจูงมือคุณย่าไหว้พระสวดมนต์ก่อนเข้านอนเป็นประจำทุกคืน



อากาศยามเช้าตรู่ของ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี บริสุทธิ์เย็นสบายแบบที่ชาวกรุงไม่มีโอกาสสัมผัส..."ปู่เป็ง เพิงสา" กำลังวิ่งออกกำลังกายรอบสนามฟุตบอล รอบแล้วรอบเล่า เหมือนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเป็นภาพที่หนุ่มละแวกนั้นมองด้วยความอิจฉาในความแข็งแรง
ตามบัตรประจำตัวผู้สูงอายุระบุว่า "ปู่เป็ง" เกิด พ.ศ.2458 บวกลบแล้วตามปีนี้ คุณปู่กำลังก้าวเข้าสู่วัย 87 ปี

"ตอนที่คุณพ่อลงแข่ง "มาราธอน" ครั้งแรก เมื่อปี 2542 พวกเราใจหายใจคว่ำ เห็นหน้าซีดอาการไม่ค่อยดี บอกให้หยุดวิ่งก็ไม่หยุด มีรถพยาบาลตามท่านจนถึงเส้นชัย " กันยารัตน์ ลูกสาวคนสุดท้อง กล่าวด้วยความห่วงใย

ขณะที่คุณปู่ของเรา บอกว่า "วันนั้นที่วิ่งไม่ออก ก็เพราะความหวังดีของลูก เห็นพ่อลงแข่งครั้งแรก ซื้อรองเท้าใหม่ยี่ห้อดังให้เป็นของขวัญ ก็เลยฉลองศรัทธาลูก แต่รองเท้าทำพิษ..

ปีต่อมาก็ลงแข่งมาราธอนอีก...คราวนี้สบายมาก 42 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 4:41:51 ชั่วโมง" ปู่เป็งกล่าวพร้อมหันมองหน้าลูกสาว

"วิ่งมาราธอน ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ไม่ใช่ของเล่นใครที่คิดจะลงวิ่ง ต้องเตรียมตัวให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ผมอายุ 40 ปี ยังไม่กล้าลงมาราธอน " สนอง ยอดครู สมาชิกชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพ สถาบันราชภัฏจอมบึง พูดถึงปู่เป็งด้วยความชื่นชม




"จอมบึงมาราธอน 2002 "

ปู่เป็ง เพิงสา ลงวิ่งมาราธอนระยะ 42.195 กม. ทำสถิติ 04:51:24 ชั่วโมง เข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 7 ในรุ่น 65 ปีขึ้นไปชาย

ไม่มีความคิดเห็น: